FAA Preloader

ทำความรู้จัก ‘Generative Art’ ศิลปะที่มี ‘โค้ด’ เป็นพู่กัน และมีผืนผ้าใบเป็น ‘เท

เมื่อนึกถึงคำว่า ‘โค้ด’ ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวของหลาย ๆ คนอาจจะเป็นภาพตัวอักษรผสมตัวเลขสีเขียวยั้วเยี้ยเต็มหน้าจอสีดำมืดคลอด้วยเสียงคีย์บอร์ดที่ถูกรัวแป้น เป็นอะไรที่ดูเป็นคนละศาสตร์กับคำว่า ‘ศิลปะ’ สุด ๆ ดังนั้นเมื่อพูดว่าจริง ๆ แล้ว ‘โค้ด’ ก็สามารถทำหน้าที่รังสรรค์งานศิลปะได้ไม่ต่างกับ ‘พู่กัน’ อาจชวนให้ขมวดคิ้วไม่เข้าใจนัก

แต่ ‘โค้ด’ กับ ‘ศิลปะ’ นั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้จริง ๆ แถมยังเป็นมานานแล้วในสิ่งที่มีชื่อว่า ‘Generative Art’


Signal to Noise ผลงานของ Casey Reas

ถ้าให้นิยามง่าย ๆ Generative Art คืองานศิลปะประเภทใดก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นจากระบบอัตโนมัติโดยแทบไม่มีศิลปินเข้าไปเกี่ยวเลย นอกจากชื่อ Generative Art แล้ว ศิลปะชนิดนี้ยังถูกเรียกโดยชื่ออื่น ๆ อีก เช่น Code Art, Algorithmic Art หรือ Procedural Art หรืออาจถูกเรียกรวม ๆ ว่าเป็นหนึ่งใน Computer Art หรือบางครั้งก็ถูกนับว่าเป็น Autonomous Art (ศิลปะที่สร้างขึ้นโดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์) ซึ่ง Generative Art ส่วนใหญ่นั้นจะถูกสร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยสิ่งที่ตัวศิลปินจะทำก็คือการกำหนดโครงร่างของชิ้นงาน แล้วปล่อยให้เจ้าระบบจักรกลจัดการต่อจนออกมาเป็นผลลัพธ์ให้ได้เห็น ดังนั้นตัว ‘โค้ด’ ของโปรแกรมจึงทำหน้าที่สรรค์สร้าง ระบายฉวัดเฉวียนไปมาเหมือน ‘พู่กัน’ ลงบน ‘เทคโนโลยี’ ที่รองรับอยู่ไม่ต่างกับ ‘ผืนผ้าใบ’

หนึ่งในคุณสมบัติพิเศษอันน่าสนใจของ Generative Art คือเป็นงานศิลปะที่ไร้แรงขับเคลื่อนที่เด่นชัดหรืออุดมการณ์ที่มาจากตัวศิลปิน และอีกข้อที่แตกต่างจากกระบวนการศิลปะอื่น ๆ ส่วนมากก็คือ ศิลปะแขนงนี้เป็นเรื่องของการศึกษาและสำรวจ ‘ระบบ’ มากกว่าที่จะเป็นการสร้างสรรค์ ‘เรื่องราว’


ผลงาน Generative Art จาก Manolo Gamboa Naon

 

แม้จะดูเป็นศิลปะล้ำสมัย แต่ถ้าย้อนเส้นทางกลับไปจริง ๆ แล้ว ชิ้นงานที่สร้างขึ้นโดยใช้แนวคิด Generative มีมาตั้งแต่สมัยยุคหินเก่าตอนกลาง โดยนักโบราณคดีในปี 1999 ค้นพบหินที่ถูกแกะสลักเป็นระบบกริด ซึ่งอายุของหินนั้นย้อนกลับไปได้กว่า 70,000 ปี ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 Paul Cézanne ศิลปินผู้วางรากฐานของศิลปะแบบคิวบิสต์ (Cubist) ได้ทดลองเล่นกับรูปทรงเรขาคณิตและการที่ภาพจะเปลี่ยนไปเมื่อมองจากเปลี่ยนจุดที่มอง จากนั้นขบวนการศิลปะแบบฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) และคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism, ศิลปะนามธรรมที่วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่และพื้นที่ในเมือง) นั้นก็ได้พาเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาในโลกของศิลปะ เมื่อทุกสิ่งรวมกันจึงเกิดเป็นองค์ประกอบหลักของ Generative Art

 เข้ามาในช่วงยุค 60 Georg Nees, Frieder Nake และ  A. Michael Noll ได้บุกเบิกเขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของเครื่องจักรวาดภาพที่เรียกว่า ‘พล็อตเตอร์’ (Plotters) ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคในขณะนั้นทำให้งานของพวกเขาออกมาในรูปแบบเรขาคณิตเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่แพร่หลายในช่วงยุค 60 และ 70 เหล่าศิลปิน Generative ก็ทดลองใช้เครื่องคำนวณขนาดเท่าห้องโดยผสมหลักของศิลปะและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ในช่วงนั้นเองที่ผู้หญิงได้เริ่มเข้ามาในวงการนี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือ Lillian Schwartz ผู้สร้างหลักสำคัญหลายข้อที่เป็นส่วนหนึ่งของการวางโครงสร้างของขบวนการศิลปะขบวนการนี้ ซึ่งต่อมาเธอได้เป็นศิลปิน Generative คนแรกที่ได้รับการมอบหมายงานจาก MoMA และเป็นคนแรกที่ได้แสดงผลงานแอนนิเมชั่นดิจิตัลในฐานะงานวิจิตรศิลป์อีกด้วย

จนกระทั่งการเติบโตของอินเตอร์เน็ตในยุค 90 ทำให้ความนิยมในภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับความสนใจในการใช้โปรแกรมมาเป็นอุปกรณ์ศิลปะ และเพราะภาษาคอมพิวเตอร์ถูกปรับให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงทำให้ศิลปินหลายคนสนใจเข้ามาศึกษาศิลปะแขนงนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแล้วในปี 2014 นวัตกรรมใหม่จาก Generative Art ก็ถือกำเนิดขึ้น ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างภาพได้ชื่อ Generative Adversarial Networks (GANs) เป็น AI ที่ ศิลปินสามารถฝึกให้ระบบอัลกอริทึมของมันมีสไตล์งานของตัวเองได้ด้วยการป้อนภาพให้ ศึกษาและสร้างงานชิ้นใหม่ขึ้นมาจากสิ่งที่เคยได้รับไป

เสน่ห์ของการใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการสร้างงานศิลปะอยู่ที่การ ‘สุ่ม’ อย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นงานโดยทั่วไป ศิลปินจะเป็นผู้จัดเลือกว่าอะไรบ้างที่จะอยู่หรือจะไปในชิ้นงาน แต่เมื่อเป็นงานจากระบบโปรแกรม เราจะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ศิลปิน Hans Dehlinger ได้กล่าวถึงคุณลักษณะข้อนี้ของ Generative Art ไว้ว่าเป็น “สนามเด็กเล่นสุดมหัศจรรย์สำหรับศิลปะ”


'String D' ผลงานจาก Turning Torso

แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นโดย ‘โปรแกรม’ โดย ‘มนุษย์’ เป็นเพียงผู้ป้อนคำสั่ง ย่อมเกิดข้อถกเถียงตามมาว่าแล้วผลงานของมันเป็น ‘ศิลปะ’ จริง ๆ ได้หรือไม่ นักวิจารณ์บางกลุ่มกล่าวว่าเพราะศิลปินนั้นได้ยกอำนาจให้กับเครื่องจักรในการทำงานไปเสียสิ้น ดังนั้นงานที่ได้ย่อมห่างไกลจากความเป็น ‘ศิลปะ’ นัก

แต่ศิลปินหลายคนก็มีความเห็นที่ต่างออกไป หลายคนบอกว่า Generative Art ใช้สร้างในสิ่งที่มือมนุษย์ไม่อาจสร้างได้ Vera Molnar ศิลปิน Generative พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่าหากไม่มีคอมพิวเตอร์ คงไม่มีทางที่จะทำให้ภาพในหัวของศิลปินออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างตรงใจ “มันอาจจะฟังดูขัดแย้งกัน แต่เครื่องจักรที่ถูกมองว่าเย็นชืดและไร้ความเป็นมนุษย์สามารถชวนให้เราตระหนักได้ถึงความเป็นมนุษย์ที่ช่างเป็นปัจเจก, จับต้องไม่ได้ และลึกซึ้ง” นอกจากจะช่วยสร้างสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว การใช้เครื่องมือเหล่านี้ยังช่วยให้สามารถสร้างผลงานได้รวดเร็วขึ้นมาก งานบางงานที่ศิลปินอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายเดือนในการจัดการ แต่ระบบโค้ดสามารถจัดการงานนั้น ๆ พร้อมกับงานอื่น ๆ อีกหลายร้อยงานได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที

แม้จะเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในปัจจุบัน Generative Art ก็ได้รับความยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ผลงาน Generative ถูกนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์และกลายเป็นหนึ่งในชุดงานสะสมส่วนตัวไปทั่วโลก ทั้งนี้ Generative Art ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาพวาดเท่านั้น แต่ยังเป็นได้ทั้งงานเขียน, ดนตรี, สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่บทกวี นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้ในการออกแบบต่าง ๆ เช่นการออกแบบผลิตภัณฑ์, ออกแบบวิดีโอเกม และออกแบบของใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย


เกม PANORAMICAL ซึ่งเป็น Interactive Generative Art Software จาก Fernando Ramallo


เกม PANORAMICAL ซึ่งเป็น Interactive Generative Art Software จาก Fernando Ramallo

 

อ้างอิง:

Chua, J. 2021. Do Machines Dream of Creativity? A Beginner’s Guide to Generative Art
Invaluable. 2019. Generative Art: Origins, Artists, and Exemplary Works
AI Artists. Generative Art Guide: Examples, Software and Tools to Make Algorithm Art

 

 


แชร์
0%