
ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน สังคมที่ยากจะคำนึงถึงอนาคต ระบบทุนที่ถูกผลิตขึ้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น สิ่งเหล่านี้ชวนขบคิดให้เห็นถึงมุมมองต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมที่พบในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความจริงของสภาพสังคมนั้นมีหลายเรื่องที่ไม่ดี ไม่งาม หนึ่งในนั้นคือเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในสังคม กลุ่มคนที่ต้องรับบทบาทเป็นนักแสดงหลักในภาพยนต์เรื่องนี้อยู่เสมอ คือ กลุ่มคนกรรมาชีพ , กลุ่มคนเปราะบางหรือบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ พวกเขาถูกดูแคลนและทอดทิ้งเอาไว้อีกฝากหนึ่งของสังคมอยู่เสมอ หลังจากเรียนจบภาคภูมิอาศัยพื้นที่ทำงานศิลปะขนาด 3x7 เมตร ท่ามกลางแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดปทุมธานี ไม่มีคนพื้นที่เดิมอาศัยอยู่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาทำงาน การเข้ามาและออกไปของผู้คนในพื้นที่เป็นภาพที่เห็นจนชินตา ถิ่นฐานที่อาศัยอยู่นั้นทำให้ภาคภูมิมีโอกาสได้ร่วมสนทนากับบุคคลหลายกลุ่ม พูดคุยถึงปัญหาที่หลากหลาย พวกเขาต้องสู้อยู่กับอะไร พวกเขากินนอนอย่างไร พวกเขามีความคิดต่อวันพรุ่งนี้อย่างไร ในบางครั้งคำตอบมันก็เศร้าจนยากที่จะอธิบายต่อได้ เรื่องทุกข์และเรื่องสุข ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง เศร้าบ้าง ร้องไห้บ้าง ทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำให้พบเห็นแต่ปัญหา ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว การเงิน งาน โรคระบาด รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่
ต่างจากสิ่งที่โฆษณาชวนเชื่อ และไปจนถึงคำว่า " มื้อที่สุขที่สุด "ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้กระบวนทัศน์ วิธีการทำงานของภาคภูมิต่างไปจากเดิม ปัญหาที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันที่ถูกมองข้ามและไม่ได้ถูกพูดถึง สร้างเป็นผลงานทัศนศิลป์ ที่กล่าวถึงความสะเทือนใจ ความเศร้า แต่เป็นความจริงที่อยู่ในสังคมและบ่อยครั้งเราเองก็หลงลืม