FAA Preloader

NFT กับทางเลือกใหม่ของศิลปินไทย

เวลานี้หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า NFT กันมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงศิลปะบ้านเรา ซึ่ง NFT ได้แพร่ระบาดไปทั่วและกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ของศิลปินไทยที่น่าสนใจด้วย

NFT เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่ Jack Dorsey Ceo และผู้ก่อตั้ง Twitter ตัดสินใจเอาถ้อยคำทวิตแรกของตัวเองที่โพสต์ลงเครือข่ายมาทำเป็น NFT แล้วนำมาประมูลและปิดราคาไปที่ 2.9 ล้านดอลลาร์เหรียญสหรัฐหรือจะเป็นการ์ตูนรูปแมว Nyan Cat Meme  ที่ถูกไปประมูลไปในราคา 590,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลงานของศิลปินดิจิทัลอาร์ตชื่อ Beeple ที่ถูกประมูลไปในราคา69 ล้านดอลลาร์

NFT (Non- Fungible Token/Crypto Art) เป็นวัตกรรมที่เกิดการแปลงสินทรัพย์ให้มีมูลค่าในเชิงดิจิทัลซึ่งเจ้าของสินทรัพย์ก็สามารถสร้างมูลค่าให้กับผลงานของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องจัดส่งของจริง นับเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแบบใหม่ รวมถึงเป็นช่องทางทำเงินใหม่ให้กับคนทำงานศิลปะ ปัจจุบันเป็นที่นิยมในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น วงการเกม วงการการ์ดสะสม วงการเพลง รวมถึงวงการศิลปะ ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการซื้อขายกันได้จริงในโลกออนไลน์ผ่านระบบจัดเก็บข้อมูล Blockchain ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน ศิลปินสามารถขายและเปิดประมูลผลขายของตนเองได้ ผู้ประมูลที่ชนะจะได้กรรมสิทธิ์ของการเป็นเจ้าของ โดยสามารถนำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือส่งมอบไฟล์นั้นให้กับผู้อื่นได้ เหมือนสินทรัพย์ทั่วไป แต่ผู้ประมูลก็ไม่ได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างผลงานนั้นๆ ไปสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันมีศิลปินไทยหลายคนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่องทางของ NFT ไม่ว่าจะเป็น Line Censor หรือเกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ ที่กวาดรายได้ไปหลายล้านบาทในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน  Victorior หรือ วิค - วันชนะ อินทรสมบัติ ศิลปินดิจิทัลอาร์ตที่สามารถขายงาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ หลักหลายหมื่นหรือหลายแสนต่อหนึ่งชิ้นงานในระยะเวลา นอกจากนี้ก็ยังมีศิลปินรุ่นใหญ่ฝีมือเก่าอย่าง โลเล - ทวีศักดิ์ ศรีทองดี และ ติ๊กชิโร่ เอาผลงานภาพเขียนของตนเองมาประมูลขายใน NFT ด้วยเช่นกัน

ข้อดีของ NFT คือเป็นการสร้างโอกาสดีให้กับศิลปินหลายคน และแจ้งเกิดศิลปินดาวรุ่งที่มีฝีไม้ลายมือน่าจับตามอง รวมถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วก็ยิ่งโด่งดังขึ้นไปอีก อีกทั้งยังเป็นช่องทางรายได้ใหม่ ทดแทนการสูญเสียรายได้ในช่วงโควิด 19 ที่ทำให้ศิลปินขายผลงานจริงได้ยากขึ้น และไม่สามารถจัดแสดงนิทรรศการศิลปะได้เป็นระยะเวลายาวนาน NFT ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับการจัดเก็บงาน ไม่ต้องเสียเวลาติดตั้ง ไม่ต้องจัดแสดงนิทรรศการ ไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และไม่ต้องกลัวว่างานจะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา นอกจากนี้มันยังเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คนที่มีต่องานศิลปะ ซึ่งเวลานี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความงามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องจิตวิทยา และวิธีการที่มนุษย์ให้คุณค่ากับบางสิ่งที่เปลี่ยนไปจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันด้วย

 

บทความโดย : พิมพ์ปวีณ สุนทรธรรมรัต
photo : www.opensea.io, Line Censor Kiatanan, lolaytoontoon, adaybulletin, nftthailand


แชร์
0%