“เพราะลงมือก่อนย่อมดีกว่า” ส่องเส้นทางสู่อนาคตของเกาหลีใต้ในตลาด Metaverse
“เพราะลงมือก่อนย่อมดีกว่า” ส่องเส้นทางสู่อนาคตของเกาหลีใต้ในตลาด Metaverse
ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามองเป็นอันดับต้นๆ ของวงการเทคโนโลยี เพราะดูเหมือนว่าพวกเค้าจะหยิบจับอะไรโชคชะตาก็เป็นใจให้กลายเป็นกระแสไปซะหมด แต่ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่แค่โชคช่วย แต่ทุกการแทรกซึม Soft power เข้าไปในทุกที่ มันคือการลงทุนมูลค่ามหาศาลในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่น และเล็งเห็นประโยชน์ของการเริ่มทำก่อนคนอื่นๆ
เช่นเดียวกับครั้งนี้ หลังจากนายกเทศมนตรีโซล “โอ เซฮุน” และรัฐบาลแห่งกรุงโซลประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ถึงเป้าหมายที่จะผลักดันให้กรุงโซลกลายเป็นเมืองแห่งเมตาเวิร์ส (Metaverse Seoul) อันดับที่ 5 ของโลกให้ได้ ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ Seoul Vision 2030 โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนกว่าร้อยล้านบาท
(นายกเทศมนตรีโซล “โอ เซฮุน” ในงานแถลงข่าว Seoul Vision 2030 ภาพจาก The Korean Times)
โดยมี 4 แกนสำคัญประกอบด้วย
- สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม (Ecosystem)
- พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ (Developer)
- ให้การสนับสนุนทั้งองค์กรเอกชน และสตาร์ทอัพ (People)
- คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน (Safety)
จากกรณีนี้ จะเห็นได้ว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับ Metaverse หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันคือการร่วมมือกันของภาครัฐที่ต้องให้การสนับสนุน ภาคเอกชนจะต้องช่วยกันร่วมลงทุน บวกกับประชาชนในประเทศต้องเกิดความตื่นตัวและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และขาดไม่ได้เลยคือเทคโนโลยีต้องพร้อม ซึ่งเมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาเทียบเคียงกับสิ่งที่ประเทศเกาหลีใต้มี การขึ้นไปเป็นชั้นแนวหน้าของเมตาเวิร์สให้ทันภายใน 2030 คงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
โดยแผนงานของโครงการนี้จะถูกนำมาทดลองใช้กับงานบริหารเทศบาลเป็นอันดับแรก ด้วยการจัดทำสำนักงานนายกเทศมนตรีแบบเสมือน (Virtual Mayar’ s Office) ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งในปี 2023 จะมีการเปิดตัวศูนย์บริการสาธารณะเสมือนจริง โดยจะมีเจ้าหน้าที่รัฐในรูปแบบอวตารคอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อรองรับการเข้าถึงบริการเจ้าทางรัฐได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น
ส่วนด้านการท่องเที่ยวก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน พวกเขาวางแผนที่จะเปิดตัว “Virtual Tourist Zone” ขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายที่อาจจะมีข้อจำกัดทางภาษา หรือไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศเกาหลีใต้ด้วยตนเอง สามารถเข้ามาเยี่ยมชมสถานท่องเที่ยวชื่อดังได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามผ่านแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส ไม่ว่าจะเป็น จัตุรัสกวางฮวามุน, พระรามวังท็อกซู และตลาดนัดนัมแดมุน ทั้งยังรองรับกลุ่มผู้เปราะบาง และผู้พิการโดยการดึงเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Extended Reality (XR) มาใช้อีกด้วย
นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้เลยคือในส่วนของวงการบันเทิงที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศเกาหลีใต้ วงการนี้ก็มีความเคลื่อนไหวแล้วเช่นเดียวกัน หลายค่ายเพลงได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างโลกเสมือน วางเรื่องราวผ่านเพลงที่โปรโมท และสร้างตัวตนให้ศิลปินในสังกัดเข้าไปอยู่ในโลกใบนั้น เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แฟนคลับได้ใกล้ชิดศิลปินที่พวกเขารักมากยิ่งขึ้น
เอาเข้าจริงไม่ใช่แค่ประเทศเกาหลีใต้เท่านั้นที่พยายามขับเคลื่อนประเทศของตัวเองให้ไปตามกระแสที่เร็วและแรง ประเทศไทยก็พยายามที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลนี้เช่นกัน ผ่านโครงการ Phuket Metaverse City ซึ่งเป็นการร่วมมือของ รมว.ดีอีเอส กับ รมว.การท่องเที่ยวฯ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และ Wellness ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่งคง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกมิติผนวกกับทรัพยากรและศักยภาพของคนในพื้นที่ ทำให้เชื่อได้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะสามารถกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ของประเทศไทยได้
ถ้าลองนั่งจินตนาการดู คงดีไม่น้อยเลยถ้าโมเดลแบบนี้สามารถกระจายไปทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทย เพราะมันคือสัญญาณที่ดีของการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในประเทศไปสู่โลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบเข้าใจง่ายที่สุด ผ่านการแทรกซึมในวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นกลุ่มเกษตรกรมีเหรียญเป็นของตัวเองไว้ซื้อขายผลิตผลในสวนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้เห็นการเข้าถึงทางการศึกษาหรือการแพทย์แบบไร้พรหมแดนก็ได้ แต่จากฝันจะกลายเป็นมากกว่าฝันได้ไหม แน่นอนว่าประเทศไทยจะต้องมีปัจจัยอย่างที่กล่าวในข้างต้นเสียก่อน
โดยอาจจะต้องเริ่มจากการมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบเสถียรและครอบคลุมทุกพื้นที่ น่าจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่น้อยแล้วสำหรับพวกเรา
อ้างอิง:
TheKoreanTimes. 2022. Korea aims to become world's 5th biggest metaverse market by 2026
“เกาหลีใต้” กับแผนพลิกประเทศสู่การเป็นยักษ์ใหญ่แห่ง “Metaverse” อันดับ 5 ของโลก-เตรียมพัฒนาคน และธุรกิจ
Gaubert, J. 2021. Seoul to become the first city to enter the metaverse. What will it look like?
MatichonOnline. 2022. “การส่งเสริมการท่องเที่ยวและ Wellness ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”