FAA Preloader

เมื่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขุดเหรียญ จะไม่ใช่ตัวร้ายอีกต่อไป

เมื่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขุดเหรียญ จะไม่ใช่ตัวร้ายอีกต่อไป

Carbon Footprint หรือ รอยเท้าคาร์บอน คือค่าประมาณของคาร์บอนทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาระหว่างการสร้างผลิตภัณฑ์ โดยแต่ละประเภทและกระบวนการในการผลิตจะปล่อยปริมาณคาร์บอนแตกต่างกันไป 

ซึ่งตั้งแต่การใช้เหรียญดิจิทัลเกิดเป็นกระแสทั่วโลก สกุลเงินดิจิตัลนั้นต้องใช้พลังงานจนเกิดเป็น Carbon Footprint จำนวนมากจากการใช้คอมพิวเตอร์ถอดสมการคณิตศาสตร์ (หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘การขุด’) โดยอัตราการใช้พลังงานเทียบเท่ากับการใช้พลังงานของประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งปี 2019

จากหลักฐานนี้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลากหลายทาง ตัวอย่างเช่น อีลอน มัสก์ CEO บริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ที่ออกมาประกาศยกเลิกการรับชำระเงินซื้อรถ Tesla ด้วย Bitcoin หรือแม้กระทั่งในวงการดนตรีอย่างวง Gorillaz ที่ฉลองครบรอบ 20 ปีด้วยการนำอัลบั้มมาตีพิมพ์ใหม่ พร้อมปล่อยของที่ระลึกที่หนึ่งในนั้นคือ NFT ทำให้แฟนคลับออกมาต่อต้านกันยกใหญ่ และล่ารายชื่อเพื่อให้ศิลปินยุติการผลิต NFT ได้กว่า 3,700 คน เป็นต้น แต่นั่นเป็นเรื่องในอดีตแล้ว เพราะในที่สุดเราก็สามารถหาหนทางในการลดปริมาณ Carbon Footprint ได้เสียที

จากงานประชุม Gartner Tech Growth & Innovation ของบริษัท Gartner, Inc บริษัทให้คำปรึกษาที่ให้ข้อมูล คำแนะนำ และเครื่องมือสำหรับผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับชั้นนำของโลก เผยว่าเราจะได้เห็นเทคโนโลยีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2025 นี้ ไม่ว่าจะเป็น Cloud sustainability, carbon footprint measurement และ advanced grid management software

โดย Annette Zimmermann รองประธานฝ่ายวิจัยของ Gartner กล่าวว่า "ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเป็นความรับผิดชอบขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากต้องการเชื่อมรอยต่อสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยการหยิบเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ย่อมเป็นเรื่องที่ควรค่าต่อการลงมือทำ" โดยการประชุมในครั้งนี้ Gartner คาดการณ์ว่าองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญในเรื่องการปล่อยมลพิษ และจัดทำรายงานให้มีความโปร่งใส ด้วยการนำเทคโนโลยีการวัดค่ารอยเท้าคาร์บอนไปใช้อย่างมีนัยสำคัญเพิ่มมากขึ้น 


(“Machine Hallucinations” หนึ่งในผลงานจากคอลเลคชั่น “Carbon Drops” ของ Nifty Gateway ภาพจาก Nifty Gateway)

เช่น Nifty Gateway ตลาดซื้อขาย NFT ของ Winklevoss ที่ได้ประกาศแผนการลดรอยเท้าคาร์บอนผ่านการชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในทุกๆ สิ้นเดือน นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะเปิดตัวการสร้างเหรียญแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า 99% หรือ Sundar Pichai CEO จากบริษัทยักษ์ใหญ่ Alphabet (หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ Google) ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสนับสนุนของบริษัทที่ตั้งเป้าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) ซึ่งสามารถทำได้แล้วตั้งแต่ปี 2007 และปัจจุบันนี้ทางบริษัทเองได้ตั้งเป้าครั้งใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม คือการไม่ปล่อยคาร์บอนเลยตลอด 24 ชั่วโมงภายในปี 2030

โดยสถิติที่ผ่านมาในปี 2019 บริษัทสามารถไม่ปล่อยคาร์บอนเลยได้ถึง 61% และตอนนี้ในปี 2020-2021 อยู่ที่ 67% ซึ่งการที่บริษัททำได้ขนาดนี้เป็นเพราะพวกเขาใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) แทนพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งมีแผนจะลงทุนกับเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ Sundar Pichai ยังเน้นย้ำอีกว่า AI (Artificial Intelligence) จะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนในอนาคต

ต้องยอมรับว่าทุกการค้นพบย่อมมีข้อดีและข้อเสีย เช่นเดียวกับที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการขุดเหรียญทำให้เกิดปริมาณคาร์บอนจำนวนมาก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ไม่มีทางแก้ จะเห็นได้จากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พยายามจะหาทางแก้ไขปัญหาตามศักยภาพที่มี และตอนนี้ดูเหมือนว่ายังมีอีกหลายองค์กรที่ตั้งเป้าหมายนี้ไว้เช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง :
Gartner, Inc. 2022. Gartner Says Three Emerging Environmental Sustainability Technologies Will See Early Mainstream Adoption by 2025
Gottsagen, W. 2021. NFT Marketplace Nifty Gateway Plans to Go Carbon Neutral
Bloomberg Technology. 2021. Bloomberg Studio 1.0: Alphabet CEO Sundar Pichai
Verma, R. 2022. Google aims to become 100% carbon-free energy by 2030 — here’s how it’s planning to do it

 

 


แชร์
0%