อาร์ตไหม ถามใจเธอดู ชวนสำรวจคำถาม ‘ศิลปะที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ นับเป็นศิลปะไหม
อาร์ตไหม ถามใจเธอดู: ชวนสำรวจคำถาม ‘ศิลปะที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ นับเป็นศิลปะไหม?’
เป็นที่รู้กันว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทุกคนจนแทบขาดไม่ได้ และเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เทคโนโลยีก็ยิ่งถูกพัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนสามารถทำหลาย ๆ อย่างได้ทัดเทียมคนจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่เรียกว่างาน ‘ศิลปะ’
เด็กชายมัธยมปลายเขียนโปรแกรมที่สามารถแต่งเพลงแรปได้เองด้วยการประมวลผลจากเนื้อเพลงของ Kanye West กว่า 6,000 ท่อน, รูปวาด Edmond de Belamy ที่สร้างโดย AI ถูกขายได้ในราคา 432,500 ดอลลาร์, เว็บไซต์ deepart.io ให้ผู้ใช้อัพโหลดลวดลายอะไรก็ได้แล้วทางเว็บจะเปลี่ยนมันให้เป็นงานศิลปะในรูปแบบของศิลปินที่ผู้ใช้ชื่นชอบในราคา 1.99 ยูโร, Holly Herndon เขียนโปรแกรมและอัดเสียงตนเองรวมถึงเสียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ลงไปใน AI ชื่อว่า Spawn แล้วร้องเพลงด้วยกันและปล่อยเป็นอัลบั้ม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของผลงานที่ถูกสร้างขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสร้างความสนใจและตื่นเต้นให้กับคนจำนวนมากในความสามารถที่ไร้ขอบเขตขึ้นเรื่อย ๆ ของเทคโนโลยี และแน่นอนว่าในอนาคตจะมีงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นโดยสิ่งเหล่านี้มากขึ้นไปอีก
แต่ถึงจะน่าตื่นเต้นแค่ไหน หลาย ๆ คนก็คงอดมีคำถามแวบขึ้นมาไม่ได้ แล้วงาน ‘ศิลปะ’ จาก ‘คอมพิวเตอร์’ นับเป็น ‘ศิลปะ’ จริง ๆ หรือเปล่านะ

รูปภาพที่สร้างขึ้นจากภาพที่ผู้ใช้อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ deepart.io โดยเลือกได้ว่าอยากให้ผลงานที่ออกมาเป็นสไตล์ของจิตกรชื่อดังคนไหน
(https://www.goethe.de/prj/zei/en/pdk/22094490.html)
Robert J. Marks ศาสตราจารย์พิศิษฐ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคำนวณ (Computer Science) ยกประโยคอ้างอิงมาจากนักเขียนชื่อดัง Margaret Wolfe Hungerford ว่า “ความงามขึ้นอยู่กับคนมอง” ดังนั้นการตีความว่าผลงานจาก AI จะเป็นศิลปะหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เพราะคุณค่าของศิลปะทุกแขนงไม่อาจวัดได้ แต่ขึ้นอยู่กับสายตาแต่ละคนเท่านั้นเอง
แต่ Marks ก็ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าความเห็นที่คนมีต่อศิลปะนั้นสามารถถูกชักจูงได้ง่าย โดยขึ้นอยู่กับ ‘กองเชียร์’ เมื่อย้อนไปในโรงละครสมัยศตวรรษที่ 18 กองเชียร์ที่ถูกจ้างมาจะมีหน้าที่ปรบมือชื่นชมเสียงดัง เมื่อละครจบ กองเชียร์คนหนึ่งจะเด้งตัวขึ้นมาปรบมือแล้วร้องชมเสียงดัง แล้วกองเชียร์คนอื่น ๆ จึงลุกตาม ในไม่นานคนที่ไม่ใช่กองเชียร์ก็ลุกมาปรบมือตามด้วย
Marks กล่าวว่าในยุคปัจจุบัน กองเชียร์ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มตัวแทน, ผู้สนับสนุน และนักประชาสัมพันธ์ พวกกองเชียร์จะเพ่งความสนใจไปที่อะไรก็ตามที่ดึงดูดสายตาและมองไปยังภาพความยิ่งใหญ่ปลอม ๆ มากกว่าที่จะสนใจความเป็นจริง ดังนั้นแม้งานที่สร้างจาก AI จะไม่มีความสร้างสรรค์ใด ๆ แต่หากถามเหล่า ‘กองเชียร์’ ว่างานเหล่านั้นเป็นศิลปะหรือไม่ พวกเขาก็จะบอกว่า ‘ใช่’ และนั่นย่อมส่งผลต่อผู้ชมคนอื่น ๆ เช่นกัน
ภาพ Edmond de Belamy ที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI
ส่วน Anne Ploin นักวิจัยจากสถาบัน Oxford Internet และหนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานเรื่อง AI and the Arts: How Machine Learning is Changing Artistic Work ยืนยันว่า Machine Learning (การทำให้โปรแกรมเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง) ไม่มีทางแทนที่ศิลปินได้
Ploin กล่าวว่า “การสร้างสรรค์ทางศิลปะคือการตัดสินใจ [ว่าจะใช้อะไร / จะสร้างอะไร / จะเล่าเรื่องอะไรให้ผู้ชม] และพัฒนาต่อในแบบของศิลปินคนนั้น ศิลปะสามารถเป็นการตอบโต้สู่การเมือง สู่ภูมิหลังของศิลปิน สู่โลกที่พวกเราอาศัยอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำซ้ำขึ้นมาได้โดยการใช้ Machine Learning ซึ่งเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล ในตอนนี้คุณยังไม่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตไปให้กับข้อมูลได้”
จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในวงการ Creative Arts จำนวน 14 คน รวมถึงได้พูดคุยกับภัณฑารักษ์และนักวิจัยในแวดวงแล้วนั้น Ploin พบว่าแม้ศิลปินจะบอกว่า Machine Learning ช่วยให้ทำงานได้หลากหลายขึ้น แต่พวกเขาก็ยังรู้สึกว่าไม่สามารถทดแทนตัวศิลปินได้ในการสร้างงานศิลปะ เพราะศิลปินนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มอบบริบทและเจตนารมณ์ในการสร้างงานให้แก่งานนั้น ๆ และคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าแม้จะมีการเข้ามาของ Machine Learning แต่ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและงานของพวกเขาก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป เพราะศิลปินนั้นทำงานเพื่อสื่อสารปัญหาของมนุษย์
Holly Herndon แสดงการร้องเพลงกับ AI ที่ชื่อว่า Spawn (https://www.goethe.de/prj/zei/en/pdk/22094490.html)
Bernd Flessner นักวิจัยทางศิลปะดูจะมีความเห็นที่ต่างออกไป เขาให้ความคิดเห็นว่า “หากงานศิลปะสามารถพูดบางอย่างกับคนที่ดูภาพนั้น, ฟังเพลงนั้น หรืออ่านหนังสือเล่มนั้นได้ มันก็เป็นศิลปะ ไม่ว่าจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างไรก็ตาม”
Matthias Bethge นักประสาทวิทยาและผู้พัฒนาเว็บไซต์ deepart.io คิดไปในทางเดียวกัน โดยเขากล่าวว่า AI รุ่นใหม่ ๆ สามารถสะสมประสบการณ์, วิเคราะห์โครงสร้าง, แยกสิ่งเหล่านั้นออกจากสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วใช้สร้างผลงานใหม่ออกมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่มนุษย์ทำ แต่ทั้งนี้ Bethge ก็ยอมรับว่าในตอนนี้เว็บไซต์ของเขานั้นเป็น “อุปกรณ์สำหรับศิลปิน” มากกว่าที่จะเป็น “ศิลปินด้วยตัวเอง”
คำถามนี้คงยังไม่ได้ข้อสรุปง่าย ๆ เพราะแต่ละคนล้วนมีมุมมองต่อศิลปะที่ต่างกัน ความเป็นศิลปะของบางคนอาจจะอยู่ที่ขั้นตอนการสร้าง อยู่ที่เทคนิค อยู่ที่เนื้อหา หรืออยู่ที่ผลลัพธ์ และในอนาคต หากระบบคอมพิวเตอร์ชาญฉลาดมากขึ้นไปอีก ก็ไม่แน่ว่ามันอาจจะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วยตัวเองจริง ๆ ก็ได้ ถ้าถึงตอนนั้นก็อาจจะต้องมาขบคิดกันอีกทีว่าเส้นแบ่งของศิลปะจะขยับเขยื้อนอย่างไรหรือเปล่า
ว่าแต่ในตอนนี้ สำหรับคุณ ศิลปะที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์นั้นเป็น ‘ศิลปะ’ หรือเปล่าล่ะ?
อ้างอิง:
Oxford. 2022. Art for our sake: artists cannot be replaced by machines – study
Willenbrock, H. 2021. When is Art really Art?
Marks, R. 2021. It’s AI Art - But is that really Art?
Pattishall, Mcauliffe, Newbury, Hilliard & Geraldson. 2019. AI Can Create Art, but Can It Own Copyright in It, or Infringe?