‘มนุษย์’ ยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่ AI สร้างงานศิลปะได้?
‘มนุษย์’ ยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่ AI สร้างงานศิลปะได้?
ในช่วงที่ผ่านมาชุดภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก AI คงผ่านหน้าฟีดใครหลาย ๆ คนไปไม่น้อย หรือบางคนอาจจะไปลองเล่นด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่ใส่คีย์เวิร์ดหรือโยนภาพที่ต้องการลงไป เจ้าปัญญาประดิษฐ์ก็จะสรรค์สร้างออกมาเป็นรูปภาพให้อย่างไม่อิดออด แถมเลือกได้อีกว่าจะให้ผลงานออกมาในสไตล์ของศิลปินเอกคนไหน ดังนั้นหากใครมีภาพที่นึกอยากจะเห็นมานานแล้วแต่จะนั่งวาดเองก็ไม่ค่อยจะมีเวลาหรือไม่ได้ถนัดด้านขีดเขียนเท่าไหร่นัก วันนี้ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่นั่งอยู่หน้าจอคอมเท่านั้น
แน่นอนว่าการพัฒนาของนวัตกรรมนี้เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจและดูจะขยายขอบเขตของวงการศิลปะให้กว้างขึ้น แต่พร้อม ๆ กับกระแสการสร้างภาพจาก AI ที่พุ่งสูง คำถามอีกข้อหนึ่งก็ถูกทักถามขึ้นมาบ่อยพอ ๆ กัน
คำถามนั้นคือ แล้ว ‘มนุษย์’ ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคที่ AI สร้างงานศิลปะได้?
AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นไปที่การทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดใกล้เคียงกับมนุษย์ หรือเป็นการพยายามจำลองสมองมนุษย์ผ่านชุดอัลกอริทึม จริง ๆ แล้ว AI มีมานานกว่า 50 ปี แต่เพิ่งจะมีบทบาทและได้รับความนิยมพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เพราะมีการปรับปรุงต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า AI คือเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าหมายที่ให้ ‘ทัดเทียมมนุษย์’ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และยิ่งเวลาผ่านไป นวัตกรรมและเทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น AI ก็ยิ่งฉลาดขึ้นจนใกล้เคียงกับมนุษย์จริง ๆ ขึ้นทุกที ไม่เว้นแม้แต่ในวงการศิลปะ แถมข้อดีเด่น ๆ ของความเป็นเทคโนโลยีคือไม่เหนื่อย ไม่โต้เถียง สั่งอะไรก็ทำตามได้อย่างรวดเร็ว
ฟัง ๆ ไปก็ดูมีแต้มต่อกว่าฝั่งมนุษย์เยอะอยู่เหมือนกัน –ไม่เหนื่อย จะยากแค่ไหนก็ทำออกมาได้ หรือจะแก้กี่ทีก็ไม่ต้องเกรงใจ แม้แต่ DALL-E 2 หนึ่งใน AI ที่สามารถสร้างภาพขึ้นมาได้ก็รู้ถึงจุดนี้ดีจนถึงกับเขียนคำเตือนไว้ว่า “เครื่องมือนี้อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบางประเภท เช่นการแต่งภาพหรือการถ่ายภาพ Stock Photo ซึ่งอาจทำให้แทนที่อาชีพดีไซน์เนอร์, ช่างภาพ, นางแบบ, นักตัดต่อ, และศิลปินได้”
Benjamon Von Wong ศิลปินผู้สร้างงาน Installation และประติมากรรมเป็นหนึ่งในผู้ใช้ DALL-E 2 กล่าวว่ามันช่วยทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้น Von Wong ใช้ AI ในการค้นหาไอเดียก่อนจะนำมาทำต่อเป็นชิ้นงาน “DALL-E เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับคนที่วาดรูปไม่เป็นอย่างผม แทนที่จะต้องมาคอยสเก็ตช์ภาพ ผมก็สามารถสร้างมันออกมาได้เลยผ่านประโยคต่าง ๆ” หรือ Aza Raksin ศิลปินและดีไซน์เนอร์ก็ใช้ DALL-E ผลิตมิวสิควิดีโอออกมาให้นักดนตรีชื่อ Zia Cora เขาเชื่อว่า AI ที่สามารถสร้างภาพขึ้นมาได้นั้นจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์อีกมหาศาลที่จะเปลี่ยนงานภาพของมนุษย์ไปตลอดกาล เพราะเครื่องมือนี้ จากอะไรก็ตามที่ยากจะจินตนาการถึงหน้าตาหรือนึกภาพให้ออกก็จะถูกทำออกมาเป็นภาพให้เห็นกันได้ง่าย ๆ แล้ว
กรณีนี้อาจชวนให้นึกถึงสมัยที่หุ่นยนต์นั้นเข้ามามีบทบาทในสถานที่ทำงานต่าง ๆ มากขึ้น และก็เกิดข้อถกเถียงเช่นกันว่าแล้วหุ่นยนต์จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์หรือเปล่า ซึ่งในประเด็นนี้ก็ยังยากที่จะตอบอย่างชัดเจนเพราะข้อมูลที่ได้รับมาก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด งานวิจัยทางเศรษฐกิจบางชิ้นก็บอกว่าการใช้งานหุ่นยนต์ทำให้การจ้างงานและเงินเดือนถูกลดลง แต่ในขณะเดียวกันบางงานวิจัยก็บอกว่าการมีอยู่ของหุ่นยนต์เพิ่มโอกาสทางการงานมากขึ้น
Noah Bradley ศิลปินดิจิทัลผู้ทำคลิปสอนการใช้อุปกรณ์ AI ลง Youtube มีความเห็นว่าผลกระทบของ AI ต่อวงการศิลปะนั้นคล้ายกับผลกระทบที่สมาร์ทโฟนมีต่อการถ่ายภาพ คือทำให้การสร้างสรรค์งานภาพเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ไปแทนที่เหล่าคนทำงานมืออาชีพ “การสร้างงานศิลปะนั้นมีความซับซ้อนอีกมากที่เครื่องจักรยังไม่พร้อมที่จะทำ”
แม้จะทำงานได้รวดเร็วและเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ AI ก็ไม่ได้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ผู้สั่งหมายความเสมอไป David R Munson ผู้ทำอาชีพช่างภาพ, นักเขียน, และคุณครูภาษาอังกฤษอยู่ที่ญี่ปุ่นบอกว่าการสื่อสารกับ DALL-E 2 เหมือนคุยกับเอเลี่ยนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน เขาบอกว่า AI นั้นพยายามที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราพิมพ์ไปแล้วสื่อสารกลับมาเป็นสิ่งที่มันเห็น ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง
ในส่วนของผู้ก่อตั้ง Midjourney AI ชื่อดังที่กำลังฮิตกันในขณะนี้อย่าง David Holz ไม่ได้มองว่านวัตกรรมของเขาเป็นคู่แข่งกับศิลปิน และไม่เรียกสิ่งที่เขาสร้างว่าเป็นศิลปะของ AI (AI-art) เพราะ AI ไม่ได้สร้างงานขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ได้มีความตั้งใจเป็นของตัวเอง
ตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่า AI จะทำอะไรได้บ้างและทำได้มากแค่ไหนเมื่อเทคโนโลยียังคงวิ่งไปข้างหน้าทุกวัน นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของความสามารถที่ AI จะทำได้ในอนาคต วันหนึ่ง AI อาจจะสามารถพลิกแพลงจนคล้ายกับว่ามีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองขึ้นมาจริง ๆ หากเป็นอย่างนั้นขึ้นมาความใกล้เคียงกับมนุษย์ก็จะเพิ่มมากขึ้นอีกหรือเปล่า หรือสุดท้ายแล้วคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีวันเทียบเคียงความเป็นมนุษย์จริง ๆ ได้ไม่ว่าจะเขียนโปรแกรมอย่างไรก็ตาม
แต่ถ้าคิดไปคิดมาแล้วหนักหัวไม่ไหว อาจจะพักด้วยการไปพิมพ์คำเล่น ๆ ใส่ AI สักเจ้าก็ได้นะ ไม่แน่ ระหว่างนั้นอาจจะมีคำตอบใหม่ ๆ น่าสนใจมาให้แชร์กันก็ได้
อ้างอิง:
Hencz, A. Agents Of Change: Artificial Intelligence – AI Art and How Machines Have Expanded Human Creativity
Knight, W. 2022. When AI Makes Art, Humans Supply the Creative Spark