
กิจกรรมภาพยนตร์เงียบเรื่อง ช้าง (Chang Silence Film) พร้อมการแสดงดนตรีสดโดยวงฟองน้ำ
เสวนาในหัวข้อ “การออกแบบเสียงและภาพยนตร์เงียบ: การเชื่อมโยงศิลปะ ดนตรี และเทคโนโลยี”
จัดโดย: ศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล (FAAMAI) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัฒนธรรมดนตรีไทย และ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการภัณฑารักษ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Goethe Institute ประเทศไทย และกระทรวงวัฒนธรรม
ดูสูจิบัตรออนไลน์ได้ ที่นี่
วันที่: 7-8 พฤษภาคม 2565
เวลา: 18.00 – 20.30 น.
สถานที่: โรงภาพยนตร์ลิโด้ (โรงภาพยนตร์ที่ 1)
กิจกรรมฉายภาพยนตร์เงียบเรื่อง ช้าง พร้อมการแสดงดนตรีสดโดยวงฟองน้ำ เป็นการผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก ผ่านเทคนิคการประพันธ์ดนตรีในแบบศตวรรษที่ 20 ซึ่งปัจจุบันภายนตร์เงียบเรื่องนี้ได้รับการถือครองลิขสิทธิ์เพื่อฉายในประเทศไทยจากสถาบัน Goethe Institute ประเทศไทย ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมร่วมสมัย ทางผู้จัดจึงเล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศในการถ่ายทอดผลงานที่มีความสำคัญในระดับสากลทั้งด้านการสร้างภาพยนตร์ การประพันธ์เพลง การผสมผสานปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออกเข้าด้วยกัน
“หากไม่มีเสียงเพลงประกอบในภาพยนตร์เงียบเรื่อง ช้าง ผู้ชมจะได้ยินแค่เพียงเสียงเครื่องฉายหนัง
และเห็นแค่เพียงภาพเคลื่อนไหวบนจอเท่านั้น เพลงประกอบจะทำให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลาย และสงบ”
บรูซ แกสตัน กล่าวไว้เมื่อปีพ.ศ. 2526
ช้าง หรือ Chang: A Drama of the Wilderness เป็นภาพยนตร์ของชาวต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย (สยาม) โดยบริษัท พาราเมาท์ เมื่อ พ.ศ. 2468 ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงหนึ่งปีครึ่ง ที่จังหวัดน่าน แพร่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี ชุมพร การถ่ายทำครั้งนี้ใช้งบประมาณราวสองแสนบาทไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการพระบิดาของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลร่วมงานสร้าง ภาพยนตร์เรื่องช้างเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำและเป็นภาพยนตร์เงียบมีคำบรรยายปรากฏเป็นระยะ ถ่ายทำแล้วเสร็จออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2470 ที่สหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับความสนใจเป็นอันมาก ในระยะต่อมาได้รับการเสนอชื่อเข้าประกวดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2470 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เพลงประกอบภาพยนตร์เงียบเรื่องช้างสร้างสรรค์โดยวงฟองน้ำ นำโดยครูบรูซ แกสตัน เมื่อ ปี พ.ศ. 2526 พร้อมด้วย ครูไกวัล กุลวัฒโนทัย ครูประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์ และครูอานันท์ นาคคง ทดลองเทคนิคเสียงสมัยใหม่ ดนตรีไทย และเครื่องดนตรีไฟฟ้า ตลอดจนการสร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างเสียงและบรรยากาศในหนัง นับเป็นความก้าวหน้าในการผสมผสานเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบหนังเงียบซึ่งก็ยังหาชมได้ยากในปัจจุบัน
กิจกรรมครั้งนี้ผู้ชมจะได้เห็นถึงความพยายามในอดีตของการผลิตงานสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของเวลา สถานที่และสะท้อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ที่ศิลปินนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัยชิ้นนี้ไปพร้อม ๆ กัน
*เข้าร่วมกิจกรรมฟรี
*ลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ ที่นี่
*เปิดลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 17.30 น. ของวันจัดกิจกรรม
*ขอความร่วมมือมาตรงเวลา เนื่องจากเป็นภาพยนตร์เงียบไม่อนุญาตให้เข้าระหว่างฉายภาพยนตร์
*ภาพยนตร์มีความยาว 64 นาที
*ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพขณะฉายภาพยนตร์
*เสวนาหลังภาพยนตร์ พร้อม Q & A เวลา 19.15 – 20.45 น.
*การพูดคุยหลังฉายภาพยนตร์จะดำเนินรายการเป็นภาษาอังกฤษในวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 / The talk will be in English after the screening on 7 May 2022
*การพูดคุยหลังฉายภาพยนตร์จะดำเนินรายการเป็นภาษาไทยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565