
นิทรรศการ YOUNIVERSE
ศิลปิน: เมธี น้อยจินดา
จัดโดย: ศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล (FAAMAI) ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดแสดง: 3 - 9 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 – 21.00 น.
สถานที่: FAAMAI Dome บริเวณข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กิจกรรมเสวนา: 3 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 - 18.00 น. นำชมนิทรรศการโดยศิลปินพร้อมสาธิตวิธีการมีส่วนร่วมกับประติมากรรมเสียงในนิทรรศการ YOUNIVERSE
ศิลปะแห่งเสียงในนิทรรศการ YOUNIVERSE เชิญชวนให้ผู้ชมเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ทางด้านเสียงและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เสียงอวกาศของตนเองในครั้งนี้ไปพร้อมกัน
เมธี น้อยจินดา มือกีต้าร์วงโมเดิร์นด็อก เข้าสู่วงการศิลปะอย่างจริงจัง จนได้สร้างสรรค์ งานเสียงเป็นศิลปะ อันเข้มข้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในนิทรรศการแสดงเดี่ยว Thru Air on Key Strings ที่ SAC Gallery ผลงานชุดนี้สะกดคนดูให้นั่งฟังศิลปะแห่งเสียงของเขาได้นานกว่า 50 นาที ในปี 2565 นี้ เมธีกลับมาสร้างศิลปะแห่งเสียงอีกครั้งในนิทรรศการ YOUNIVERSE
นิทรรศการครั้งนี้ออกแบบและจัดวางผลงานทางด้างเสียงให้สัมพันธ์กับพื้นที่ (Site Specific Sound Installation) ท้าทายกับพื้นที่จัดแสดงอย่าง FAAMAI Dome โดมขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 เมตร สูงถึง 17 เมตร ด้วยลักษณะของพื้นที่นี้ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของเสียงสะท้อนสูงมาก ศิลปินจึงดึงเอาเอกลักษณ์ ของเสียงในพื้นที่เข้าสู่กระบวนการการคิด การสร้างและการรับรู้ โดยผู้ชม จะมีส่วนร่วมในการสร้างงานจากเสียงที่ได้ยิน ที่เปล่งออกจากทางด้านข้าง ไต่โค้งขึ้นผนังไปจนถึงจุดศูนย์กลาง แล้วดิ่งกลับลงมาด้านล่าง เมธีเลือกที่จะสร้างเสียงอวกาศอันสอดคล้องไปกับบรรยากาศของ FAAMAI Dome รวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุกับเสียงให้แปลกออกไป คล้ายเดินเข้าสู่มิติอวกาศอันน่าฉงน ใจความสำคัญของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่อวกาศภายในของผู้ชม ซึ่งศิลปินได้ เชื่อมโยงกับเรื่องของจักระทั้ง 7 ภายในร่างกายของคนเรา เขาสร้างสรรค์เสียงต่าง ๆ ที่เปล่งออกมาและจัดวาง ตำแหน่งของแหล่งกำเนิดเสียงสื่อถึงอวกาศภายในให้หมุนเวียนไปกับจุดจักระทั้ง 7 รวมถึงสอดคล้องไปกับเสียงแห่งดวงดาวและความว่างของอวกาศภายนอก ผลงานชิ้นนี้ศิลปินตั้งใจให้ผู้ชมงานได้ยินเป็นเพียงคลื่นเสียงสูง ต่ำ ค่อย ๆ ดังมาประกอบกัน เกิดเป็นประติมากรรมเสียง (Sound Sculpture) ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเหมือนประติมากรรมทั่วไป แต่ผู้ชมจะ สัมผัสได้จากการรับรู้ถึงระยะห่าง กาล-อวกาศ (Spacetime) และการวิ่งไปมาของเสียง
ศิลปินจึงเชิญชวนให้ผู้ชมมาร่วมกันปั้นเสียงให้เป็นประติมากรรม โดยให้ตำแหน่งการยืน ระยะ การเคลื่อนที่ของผู้ชมเองเป็นตัวกำหนดอาการของเสียงที่เปลี่ยนไป คล้ายกับการบำบัดตนเอง ด้วยความสมดุลของเสียง ความ สั่นสะเทือนในจุดที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งกลุ่มผู้ชมยังสามารถเล่นเสียงร่วมกันได้ ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวของเสียงจนเป็นเสน่ห์อันน่าประหลาดในอวกาศแห่งเสียงนี้
สามารถดู Terser นิทรรศการได้แล้ววันนี้ ที่นี่
*ไม่เสียค่าเข้าชม
*จำกัดจำนวนผู้เข้าชมนิทรรศการ
*สวมหน้ากากอนามัยตลอดชมนิทรรศการ และรักษาระยะห่างจากผู้ชมท่านอื่น
*ขอความร่วมมือผู้ชมแสดงหลักฐานการตรวจ ATK ล่วงหน้า หรือ แสดงประวัติการฉีดวัคซีนก่อนเข้าชมนิทรรศการ